วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การเปรียบเทียบวิธีทางสถิติกับวิธีทางวิทยาศาสตร์



เปรียบเทียบวิธีทางสถิติกับวิธีทางวิทยาศาสตร์

วิธีทางสถิติ
เป็นการศึกษาถึงขั้นตอนการดำเนินการทางสถิติ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1.    การเก็บรวบรวมข้อมูล (Collection of Data)
2.    การนำเสนอข้อมูล (Presentation of Data)
3.    การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data)
4.    การแปลความหมายของข้อมูล (Interpretation of Data)
1.      การเก็บรวบรวมข้อมูล

                   เป็นการวางแผนเพื่อศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การทำแบบสอบถาม การทำแบบทดสอบ การนับ การซื้อ เป็นต้น โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม แบบทดสอบ ไม้บรรทัด เครื่องชั่ง เป็นต้น
2.      การนำเสนอข้อมูล
          เป็นการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้มาจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย นำไปวิเคราะห์ทางสถิติได้อย่างสะดวก การนำเสนอข้อมูลอาจอยู่ในรูปของบทความ ตาราง กราฟแบบต่าง ๆ การนำเสนอข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบใดขึ้นกับลักษณะข้อมูล และวัตถุประสงค์ที่ต้องการนำเสนอข้อมูล
3.      การวิเคราะห์ข้อมูล
          เป็นการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้มาคำนวณหาค่าทางสถิติ เพื่อตอบคำถามในเรื่องที่กำลังศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลอาจ ใช้วิธีการของสถิติเชิงพรรณนาหรืออาจใช้วิธีการของสถิติเชิงอนุมาน
4.      การแปลความหมายของข้อมูล
          เป็นการอธิบายผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และได้ผลสรุปที่จะสามารถนำไปใช้ต่อไปได้ การอธิบายผลจำเป็นต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสถิติ ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาเพื่อให้การแปลความหมายของข้อมูล มีความครบถ้วนสมบูรณ์

วิธีการทางวิทยาศาสตร์  (Scientific Method) หรือวิธีแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์  เป็นวิธีการแก้ปัญหาตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นระบบและมีลำดับขั้นตอนแน่นอน  ดังนี้
        1. 
ตั้งปัญหา
        2. 
การสร้างสมมติฐาน
        3. 
ตรวจสอบสมมติฐาน หรือขั้นทดลอง (ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล)
        4. 
วิเคราะห์ข้อมูล
        5. 
ลงข้อสรุป
1. การสังเกตและการตั้งปัญหา (Observation and problem)
การสังเกต (Observation) วิธีการทางวิทยาศาสตร์มักจะเริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา  เมื่อได้ข้อสังเกตบางอย่างที่เราสนใจจะทำให้ได้สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหา (Problem)
เช่น  การสังเกตต้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือต้นหญ้าที่อยู่ใต้หลังคามักจะไม่งอกงาม  ส่วนต้นหญ้าในบริเวณใกล้เคียงกันที่ได้รับแสงเจริญงอกงามดี
        การตั้งปัญหา
        "แสงแดดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของต้นหญ้าหรือไม่"
2. การตั้งสมมติฐาน (Formulation of Hypothesis)
        คือการคาดคะเนคำตอบที่อาจเป็นไปได้หรือคิดหาคำตอบล่วงหน้าบนฐานข้อมูลที่ได้จากการสังเกตปรากฏการณ์  และการศึกษาเอกสารต่างๆ โดยคำตอบของปัญหาซึ่งคิดไว้นี้อาจถูกต้องแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับจนกว่าจะมีการทดลองเพื่อตรวจสอบอย่างรอบคอบเสียก่อน  จึงจะทราบว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้นั้นถูกต้องหรือไม่  ดังนั้นควรตั้งสมมติฐานไว้หลายๆ ข้อ และทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐานไปพร้อมๆ กัน


        การตั้งสมมติฐานที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
        1. เป็นสมมติฐานที่เข้าใจง่าย  มักนิยมใช้วลี "ถ้าดังนั้น"
        2. เป็นสมมติฐานที่แนะลู่ทางที่จะตรวจสอบได้
        3. เป็นสมมติฐานที่ตรวจได้โดยการทดลอง
        4. เป็นสมมติฐานที่สอดคล้องและอยู่ในขอบเขตข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตและสัมพันธ์กับปัญหา  ที่ตั้งไว้ สมมติฐานที่เคยยอมรับอาจล้มเลิกได้ถ้ามีข้อมูลจากการทดลองใหม่ๆ มาลบล้าง  แต่ก็มีบางสมมติฐานที่ไม่มีข้อมูลจากการทดลองมาคัดค้านทำให้สมมติฐานเหล่านั้นเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้อง เช่น สมมติฐานของเมนเดลเกี่ยวกับหน่วยกรรมพันธุ์ ซึ่งเปลี่ยนกฎการแยกตัวของยีน หรือสมมติฐานของอโวกาโดรซึ่งเปลี่ยนเป็นกฎของอโวกาโดร
ตัวอย่าง
        "ถ้าแสงแดดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงอมของต้นหญ้า  ดังนั้นต้นหญ้าบริเวณที่ไม่ได้รับแสงแดดจะไม่งอกงามหรือตายไป"
3. การตรวจสอบสมมติฐาน หรือขั้นรวบรวมข้อมูล (Gather Evidence)
          การตรวจสอบสมมติฐานจะต้องยึดข้อกำหนดสมมติฐานไว้เป็นเหลักเสมอ (เนื่องจากสมมติฐานที่ดีได้แนะลู่ทางการตรวจสอบและออกแบบการตรวจสอบไว้แล้ว)  โดยการตรวจสอบสมมติฐานนี้ได้จาก
3.1     การสังเกต และการรวบรมข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดจากประสบการณ์ธรรมชาติ  
3.2     การทดลอง  เป็นกระบวนการปฏิบัติ หรือหาคำตอบหรือตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้โดยการทดลองเพื่อทำการค้นคว้าหาข้อมูลและตรวจสอบดูว่าสมมติฐานข้อใดเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดประกอบด้วยกิจกรรม 3 กระบวนการ คือ
3.2.1    การออกแบบการทดลอง
คือการวางแผนการทดลองก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง  โดยให้สอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้เสมอ และควบคุมปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อการทดลอง แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1)    ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น (Independent Variable or Manipulated Variable) คือปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดผลการทดลองหรือตัวแปรที่ต้องศึกษาทำการตรวจสอบดูว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลเช่นกัน
2)    ตัวแปรตาม (Dependent Variable) คือ ผลที่เกิดจากการทดลอง  ซึ่งต้องใช้วิธีการสังเกตหรือวัดผลด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลไว้ และจะเปลี่ยนแปลงไปตามตัวแปรอิสระ
3)        ตัวแปรที่ต้องควบคุม (Control Variable) คือปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากตัวแปรต้นที่มีผลต่อการทดลอง และต้องควบคุมให้เหมือนกันทุกชุดการทดลอง  เพื่อป้องกันไม่ให้ผลการทดลองเกิดความคลาดเคลื่อน  ในการตรวจสอบสมมติฐาน  นอกจากจะควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการทดลองจะต้องแบ่งชุดการทดลองออกเป็น 2 ชุด ดังนี้
         ชุดทดลอง หมายถึง ชุดที่เราใช้ศึกษาผลของตัวแปรอิสระ
         ชุดควบคุม  หมายถึง ชุดของการทดลองที่ใช้เป็นมาตาฐานอ้างอิง เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการทดลอง ซึ่งชุดควบคุมนี้จะมีตัวแปรต่างๆ เหมือนชุดทดลองแต่จะแตกต่างจากชุดทดลองเพียง 1 ตัวแปรเท่านั้น คือตัวแปรที่เราจะตรวจสอบหรือตัวแปรอิสระ
4. การปฏิบัติการทดลอง  ในกิจกรรมนี้จะลงมือปฏิบัติการทดลองจริงโดยจะดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ได้ออกแบบไว้  และควรจะทดลองซ้ำๆ หลายๆ ครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าได้ผลเช่นนั้นจริง
5.    การบันทึกผลการทดลอง  หมายถึง  การจดบันทึกที่ได้จากการทดลองซึ่งข้อมูลที่ได้นี้สามารถรวบรวมไว้ใช้สำหรับยืนยันว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ถูกต้องหรือไม่

             จะเห็นได้ว่า วิธีการทางสถิตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีทางสถิติจะอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและตรวจสอบข้อมูล ของวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้มาซึ่งผลการดำเนินการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้
             โดยสรุปแล้ววิธีทางสถิติกับวิธีทางวิทยาศาสตร์แทบจะไม่แตกต่างกัน

ที่มา
ครูปุ๊กกี้, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถิติ(Introduction to Statistics),ออนไลน์, เข้าถึงได้จาก          http://mos.e-tech.ac.th/eduweblearning/pukkie/unit_1_5.htm (วันที่สืบค้นข้อมูล       14 พฤษภาคม 2556)
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ,ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์,ออนไลน์, เข้าถึงได้จาก                         http://e-learning.snru.ac.th/els/scilife/unit1/t2-30.htm , (สืบค้นข้อมูลวันที่ 14 พฤษภาคม 2556)








การเปรียบเทียบวิธีทางสถิติกับวิธีทางวิทยาศาสตร์


เสนอ
รศ. ดร. พรพิพัฒน์  เพิ่มผล


โดย
นายณัฐกิตติ์ ศาลางาม
รหัส 555318544  ศูนย์ยโสธร  รุ่น 2/55
การบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น