วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

ใบงานการประกันคุณภาพการศึกษา ดร.วิมลรัตน์ บุญชู



การประกันคุณภาพการศึกษา
ความสำคัญขององค์การประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก
องค์การประกันคุณภาพการศึกษาภายนอกมีไว้เพื่อทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์  วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (มาตรา 49)  เพราะว่าในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้น  จำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการ ที่ต้องมีการดำเนินงานให้เป็นระบบครบวงจร  โดยมีขั้นตอนสำคัญคือ  การประเมินผลเพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ  อันจะสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เพียงใด  มีจุดอ่อน หรือปัญหาเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข  เพื่อให้การวางแผนและดำเนินงานระยะต่อไปบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิผล

องค์การที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก
มีองค์การที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ 
                1. สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  (องค์การมหาชน)  เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานทางการศึกษาของการศึกษาทุกระดับ  และทำหน้าที่ให้การรับรองผลการประเมินผล
                2. กระทรวงศึกษาธิการ  มี อำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ และทุกประเภท กำหนดนโยบาย และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่งเสริมการประสานงานศาสนา ศิลปะ และการกีฬาเพื่อการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
                3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ..) เป็นหน่วยงานส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ  มีหน้าที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พิจารณา เสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐาน แลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผน พัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ  การส่งเสริมและประสานงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐและเอกชน  การสนับสนุนทรัพยากร  การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา  โดยคำนึงถึงคุณภาพความเป็นเลิศทางการศึกษา

ทำไมต้องมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
ในการจัดการศึกษา ให้มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการ เช่นเดียว กับการบริหารหรือดำเนินกิจการต่างๆที่ต้องมีการดำเนินงานให้ เป็นระบบครบวงจรโดยมีขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การประเมินผล เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ อันจะสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพียงใด รวมทั้งมีจุดอ่อนหรือปัญหาในเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การวางแผนและการดำเนินงานระยะต่อไปบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและ ประสิทธิภาพ
ด้วย เหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผล โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอกจากหน่วยงานที่เป็นกลาง เพราะจะทำให้เกิดกลไกในการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชาติ ถึงหน่วยงานที่เล็กที่สุด คือสถานศึกษาและภายในห้องเรียนต้องมีการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการจัดการ ศึกษาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
การจัดการศึกษา ถือเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมี คุณภาพ โดยรัฐได้หมายให้กระทรวง ทบวงกรมต้นสังกัด และสถานศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมให้แก่ผู้รับบริการ คือผู้เรียน และผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้รับบริการโดยตรง รวมทั้งผู้รับบริการทางอ้อมคือสถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องตรวจสอบประเมินผลว่า การให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐและสนองความต้องการ ของลูกค้าหรือผู้รับบริการกลุ่มต่าง ๆ เพียงใด 
การที่หน่วย งานที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพภายนอก จำเป็นต้องเป็นองค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจนั้น ก็เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะมีความเป็นอิสระและมีอำนาจตัดสินใจได้ทั้งในด้านการบริหาร การจัดการ และการเงินของสำนักงาน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ให้ลุล่วงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหาร ตามสายการบังคับบัญชา ของระบบราชการ         
นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาทำให้มี ความเป็นกลางและเป็นธรรม ปราศจากแรงกดดันที่จะทำให้ผลการประเมินภายนอกเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง อันจะก่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & Balance) อย่างแท้จริง และจะทำให้การประเมินคุณภาพภายนอก เป็นบริการสาธารณะที่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสามารถที่จะ ตรวจสอบได้ว่า การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่นั้นได้ "ให้" สิ่งที่ผู้เรียน สังคมและรัฐต้องการด้วยคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพเพียงใด
ความสำคัญของระบบประกันคุณภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 81  กำหนดให้มี กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา ในหมวด 6 ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 49 ได้กำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรียกโดยย่อว่า "สมศ." มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 99ก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2543 โดยให้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการศึกษา แห่งชาติ โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งใน ทุกห้าปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
นอกจากนี้ ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอก ของสถานศึกษาทุกแห่ง ภายในหกปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้บังคับ
คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและ ประเมินคุณภาพการศึกษา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2543 จำนวน 11 ท่าน โดยให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ปลัดกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ข้าราชการจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ท่าน จากการสรรหาผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง
โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายจากกระแสโลก โดยปัจจัยสำคัญที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายดังกล่าว คือคุณภาพของคน
          การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยจะต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ทำให้เป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจริยธรรม คุณธรรม รู้จักพึ่งตนเองและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข
          ถึงแม้ว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยมาโดยตลอด   แต่จากการทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับมัธยมศึกษาของกรมวิชาการ ปี 2540 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของวิชาต่างๆ ส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่าร้อยละ 50 เช่น คะแนนเฉลี่ยในวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ของนักเรียนชั้น ม. 6 มีค่าไม่ถึงร้อยละ 30 แสดงว่านักเรียนทำข้อสอบได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ของ ข้อสอบทั้งหมด นอกจากผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการแล้ว จริยธรรม คุณธรรม และความปลอดภัยของร่างกายและจิตใจของเด็กไทยก็อยู่ในสภาวะเสี่ยงเช่นเดียว กันดังตัวอย่างของปัญหายาเสพย์ติดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในสถานศึกษาขณะนี้ ด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์นั้น จากการศึกษาของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เกี่ยวกับการทำข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของสมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลทางการศึกษา พบว่าเด็กไทยทำคะแนนได้ดีสำหรับข้อสอบแบบเลือกตอบที่ใช้ทักษะพื้นฐาน (เช่น การบวก ลบ คูณ หาร) หรือข้อสอบที่ใช้ความจำแต่ไม่สามารถทำข้อสอบที่เป็นโจทย์ปัญหาที่ต้องคิดวิเคราะห์ หรือต้องเขียนคำตอบอธิบายยาวๆ แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการคิดวิเคราะห์ และการเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นคำพูดของเด็กไทย ในขณะที่ความสามารถดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  2543 : 1)
          จากที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการศึกษาว่าจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ จริยธรรม คุณธรรม
          ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยโดยจะต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เกิดกลไกในการตรวจสอบและกระตุ้นให้หน่วยงานทางการศึกษามีการควบคุมคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 ได้กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 : มาตรา 48) ให้มีการเสนอผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งที่จัดทำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 5 ปี ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. 2542 : มาตรา 49) ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขต่อหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้สถานศึกษาปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด
          การประกันคุณภาพการศึกษา มีความสำคัญ 3 ประการ คือ
1.  ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
2.  ป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
3.  ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการ บริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการการศึกษา ทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพและสร้างสรรค์การศึกษาให้เป็นกลไกที่มีพลังในการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น




การสร้างระบบคุณภาพ มีสิ่งใดบ้างที่ต้องดำเนินการ
ประการที่  1.  คือ  ต้องมีระบบการบริหารจัดการเชิงนโยบายที่ชัดเจน  โดย สถานศึกษาต้องรับนโยบายจากต้นสังกัด และมอบนโยบายให้ทุกคนในองค์การ หรือสถานศึกษาได้รับทราบและถือปฏิบัติ ตามนโยบายนั้นได้อย่างชัดเจน  ถูกต้อง เช่น การให้ความสำคัญกับผู้เรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนเป็นอันดับแรก  โดยผู้บริหาร ครู และผู้เกี่ยวข้องต้องรู้บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ  และ ร่วมกันปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีสมรรถนะทางวิชาชีพ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม เมื่อสำเร็จการศึกษาไปสามารถเป็นคนดีของสังคม และประกอบอาชีพได้
ประการที่  2.  คือ เน้นที่กระบวนการทำงาน  ทำอย่างมีขั้นตอน  ไม่ย้อนไปย้อนมา เสียเวลาและทรัพยากร  มีการวางแผนงานกระบวนการทำงาน และมีการออกคำสั่งมอบหมายงานเพื่อให้งานนั้นสำเร็จอย่างมีคุณภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ ร่วมกัน
ประการที่ 3  มีการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา  การทำงานต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากบุคคลหลายฝ่ายทั้งในถานศึกษา และภายนอกสถานศึกษา งานบางงานไม่สามารถทำได้สำเร็จลำพังผู้เดียว  จึงต้องอาศัยบุคคลหลายฝ่ายและมีทีมงานที่ดีจึงจะสามารถทำให้งานนั้นสำเร็จทันตามกำหนดและมีคุณภาพ  การรู้จักทำงานเป็นทีมจึงเป็นหลักการจัดการคุณภาพที่ก่อให้เกิดความรักสามัคคี และสมานฉันท์  ทำให้สถานศึกษาพัฒนาได้ง่าย

ขั้นตอนสำคัญๆในการดำเนินการเป็นองค์การจัดการคุณภาพทั้งระบบมี  4  ขั้นตอน  ได้แก่
          1. ขั้นเริ่มต้น มีการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับระบบงานทั้งหมดของสถานศึกษา ได้แก่การวางแผน การจัดองค์การ  การจัดการบุคลากร การอำนวยการ และการควบคุม ไว้ให้พร้อม
          2.  ขั้นควบคุมคุณภาพ  เป็นขั้นตอนสำคัญที่มีจุดเด่นเรื่องของการประเมินผล    เพื่อให้ได้ข้อ มูลมาตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงพัฒนา สถานศึกษา  โดยเน้นการทีมงานและบทบาทเรื่องของการประเมินเป็นพิเศษ  โดยเน้นการประเมินปัจจุบันเพื่อการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีตมากกว่าการป้องกัน
          3.  ขั้นประกันคุณภาพ  (quality assurance) เป็นขั้นพร้อมรับการตรวจประเมินทั้งภายในและภายนอก  ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดให้มีบุคคลหรือทีมงานอีกชุดหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากทีมประเมินผล  ทีมนี้จะทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดการส่งผลย้อนกลับเพื่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาโดยตรง  และทำหน้าที่ประสานงานเพื่อสร้างระบบงานให้เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ
          4. ขั้นจัดการคุณภาพทั้งระบบ   เป็นขั้นที่ระบบงานพัฒนาเป็น  (quality management หรือ total quality management)   องค์การ มีคุณลักษณะตามที่กล่าวมาแล้วในช่วงนี้ทุกหน่วยงานย่อยจะมีคู่มือปฏิบัติงาน ที่ช่วยให้มีการทำงานอย่างมีขั้นตอนตามวงจรของการปฏิบัติงาน  ยืดหยุ่นได้สภาพการ  สามารถสร้างผลงานคุณภาพได้ตามเวลาหรือเงื่อนไข  ลดความผิดพลาด ลดต้นทุน และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เป็นขั้นที่ระบบงานพัฒนามาเป็นการป้องกันความบกพร่องอนาคตมากกว่าการแก้ไข






ในการสร้างระบบคุณภาพ มีสิ่งสำคัญอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการ ดังตัวอย่างคือ
1. ระบบงาน  การสร้างระบบงาน เพื่อทำให้ทุกคนทำหน้าที่ได้ถูกต้อง และสอดประสานกับบุคคลอื่นเป็นทีมงาน จำเป็นต้องมีเอกสารหลายอย่าง ดังนี้
    1.1  เอกสารที่เรียกว่า คู่มือคุณภาพ หรือ quality manual ที่บ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะสร้างระบบงานคุณภาพที่มีการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง  เน้นขั้นตอนการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานเป็นวงจรDeming cycle ประกอบด้วย plan/do/check/act และควรมีตัวอย่างที่ชัดเจน หรือมีการฝึกอบรม เพื่อที่แต่ละหน่วยงานย่อยจะได้ไปจัดทำคู่มือคุณภาพเฉพาะของหน่วยงานได้  โดยเฉพาะครูอาจารย์ ควรสามารถเน้นการจัดการเรียนรู้อย่างเน้นขั้นตอนที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ คู่ มือนี้ จะต้องระบุมาตรฐานตัวชี้วัดที่หน่วยเหนือ(ตามตอนการเรียนรู้ที่ ๑)ไว้ ด้วย เพื่อที่แต่ละหน่วยงาน จะได้มีเกณฑ์ในการพิจารณาการปฏิบัติของตน
    1.เอกสารอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า  คู่มือการประเมินและควบคุม (อาจอยู่เล่มเดียวกับเล่มแรก)ที่ระบุเกี่ยวกับ  งาน/โครงการที่ต้องประเมิน  วิธีการประเมิน    เครื่องมือประเมินข้อมูล/ตัวชี้วัด    แหล่งข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอ   ผู้ระเมิน   ตารางเวลาการประเมิน
    1.3.  เอกสารอื่นๆที่อาจรวมอยู่ในเล่ม หรือ แยกเล่ม จะได้กล่าวถึงต่อไป  ทั้งหมดนี้ต้องมีการจัดทำเป็นเอกสาร และอาจต้องมีการฝึกอบรมเป็นระยะๆ เพื่อให้บุคลากรครูอาจารย์มีความเข้าใจ และให้ความร่วมมือ
2. ความรับผิดชอบเชิงการจัดการ
             ผู้นำ หรือ ผู้อำนวยการ มีความสำคัญสูงสุดต่อระบบคุณภาพ ควรมีลักษณะผู้นำที่เป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง(transformational)และผู้นำเพื่อการแลกเปลี่ยน(transactional)อยู่ในคนเดียวกัน และมีบทบาทสำคัญ ดังต่อไปนี้
    2.1  ตั้งบุคคลหรือหน่วยงานทำหน้าที่ประสานจัดการระบบงานคุณภาพขององค์การหรือ
สถานศึกษา เพราะมีภารกิจที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมาก ผู้บริหารต้องมีบุคคลหรือองค์การมารองรับ
    2.ดำเนินการกิจกรรมต่อไปนี้ผ่านบุคคลหรือองค์การตามข้อ๑
-  การสร้างนโยบายคุณภาพ
-  สื่อสารนโยบายนี้ให้ผู้ร่วมงานทุกคนทราบ และตระหนัก
-  สร้างจุดเน้นที่สำคัญ และวัดได้ชัดเจน
-  สร้างความผูกพันยึดมั่นร่วมกันในเรื่องของคุณภาพ
-  มีการตัดสินใจเพื่อการปรับปรุงที่ทันท่วงที
-  ให้มีการรายงานเกี่ยวกับระบบงานเป็นระยะๆ และในเวลาที่แน่นอน
-  ย้ำเตือนเรื่องจุดเน้นที่ตัวนักเรียน
-  ย้ำเตือนเรื่องการใช้กระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมในการสอนและสัมพันธ์กับผู้เรียน
3.  ผู้บริหารต้องรับผิดชอบในกรอบภารกิจดังนี้
               -  การส่งเสริมสนับสนุนงานคุณภาพ เริ่มจากการให้ความสำคัญ และพยายามทุกทางให้เพื่อนร่วมงานตระหนักและร่วมมือ
              -  การสร้างความพอใจให้นักศึกษาและผู้ปกครอง ทั้งนี้ต้องทราบว่านักเรียนและผู้ปกครองต้องการอะไร และพยายามสนองความต้องการนั้น  รวมทั้งพยายามติดตามความรู้สึกของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีต่อสถานศึกษาเสมอ
              -  การสร้างนโยบายคุณภาพ ได้แก่การให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายคุณภาพ  และจัดให้มีการบริหารจัดการให้นโยบายนั้นๆบรรลุผล
              -  การ วางแผนงานคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อสร้างนโยบายคุณภาพแล้ว ในการจัดการให้เกิดผลจะต้องมีการวางแผนงานคุณภาพตามมา ซึ่งหมายถึงต้องมีการกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมายคุณภาพให้ชัดเจน จากนั้นจึงวางภารกิจ โครงการ หรือกิจกรรม พร้อม การงบประมาณ ตามมา
              -  การควบคุมระบบคุณภาพ ที่สำคัญคือการสื่อสารภารกิจฯที่กล่าวมานั้น สู่ผู้รับผิดชอบ  ดูแลให้ได้ดำเนินงานอย่างตั้งใจภายใต้บรรยากาศที่ดี  และที่สำคัญ ประสานให้มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
              -  การ จัดให้มีการรายงานทบทวนระบบงานเป็นระยะๆ โดยให้มีสาระเป็นรายแผนงาน โครงการ โดยพิจารณาเกี่ยวกับ ทรัพยากร กระบวนการทำงาน ผลผลิต ผลลัพธ์  เพื่อส่งผลย้อนกลับเพื่อการปรับปรุงงาน เพื่อลดความสูญเสีย เพิ่มความเร็ว เพิ่มคุณภาพ และปริมาณ

4.   การจัดการทรัพยากร
                ใน การจัดการคุณภาพ เรื่องของการจัดการทรัพยากร ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของต้นทุนที่ส่งผลต่อความสำเร็จตามมา ถ้ามีการจัดการที่ดีจะนำไปสู่ความสำเร็จที่คุ้มค่า แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีการบริหารจัดการไม่ดี ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่จะต้องมีการสูญเสีย ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน ถ้า เป็นธุรกิจการค้า ก็จะเสียลูกค้า ซึ่งถ้ามีมากขึ้นก็จะนำไปสู่ความหายนะขององค์การทางการค้านั้น หรือถ้าเป็นสถานศึกษา ความนิยมก็จะลดลง หรือต้องเลิกกิจการไป ทรัพยากรที่สำคัญประกอบด้วย
-  ทรัพยากรบุคคล และการจัดการความรู้
- โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทำงาน
-  บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม
-  การเงิน
-  ระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสาร

ผลผลิตทางการศึกษาคืออะไร
        ผลผลิตทางการศึกษา คือ การจบการศึกษาของนักเรียน ซึ่งหมายถึง
1. ปริมาณผู้จบการศึกษา ในทางการศึกษามีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ นักเรียนทุกคนที่เข้าเรียนสามารถ จบการศึกษาก่อน หรือในเวลาของหลักสูตร ในทางปฏิบัติจริงเป็นไปได้ยาก เพราะนักเรียนแต่ละคนย่อมมีปัญหาของตนแตกต่างกันจนทำให้ต้องจากสถานศึกษา ก่อนจบการศึกษาจำนวนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม ในด้านการออกด้วยเหตุผลเรื่องการศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ท้าทายนัก วิชาชีพครู และโดยจรรยาวิชาชีพ และความรับผิดชอบในการจัดการคุณภาพต้องมีความพยายามอย่างเต็มในการที่จะ จัดการให้นักเรียนได้เรียนเต็มตามศักยภาพของตน และต้องพยายามทำหน้าที่ให้ได้เป้าหมายใกล้เคียงกับเป้าหมายสูงสุดมากที่สุด
           2. ด้านคุณภาพผู้จบการศึกษา พิจารณา จากผลการเรียนตามระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการวัดผลการศึกษาของสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม การจบการศึกษาเน้นการวัดผลเป็นค่าระดับคะแนน และได้พยายามกำหนดวัตถุประสงค์การสอนให้เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมก็ตาม แต่ความสามารถจริงในการทำหน้าที่ หรือประกิจตามวัย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ยังเป็นที่กังขาในสาธารณชนทั่วไป โดยเฉพาะผลทางด้านจิตใจและคุณธรรม  จนเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
                ดัง นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่าย เกี่ยวกับผลผลิตทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านคุณภาพ เมื่อจะต้องมีการประกันคุณภาพ หรือ การจัดให้มีการจัดการคุณภาพทั้งระบบ จำเป็นต้องมีการ
1.กำหนดรายละเอียดระดับพฤติกรรมของความสามารถทางสมอง
2.กำหนดรายละเอียดความสามารถ หรือสมรรถภาพในการทำงาน ว่าทำอะไรได้บ้าง
3.กำหนดรายละเอียดระดับจิตใจด้านต่างๆ
            เมื่อ มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว จำเป็นต้องมีกระบวนวิธีที่ถูกต้องในการจัดการเรียนรู้ และที่สำคัญจะต้องมีการกำหนด และสร้างเครื่องมือในการประเมิน ที่พร้อมที่จะให้ครูอาจารย์ได้นำไปใช้อย่างมีมาตรฐาน และสะดวกในการนำไปใช้

การติดตามประเมินผลคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่องานจัดการคุณภาพ
                การ ติดตามประเมินผล เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของระบบงาน เพราะเป็นการดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่บ่งบอกถึงผลผลิตทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ พร้อมปัญหาที่เกิดขึ้นและสาเหตุ เพื่อที่จะส่งผลย้อนกลับไปแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยเฉพาะสาเหตุจากกระบวนการและทรัพยากร
                การติดตามประเมินผลที่ควรต้องทำเป็นประจำ  มีดังต่อไปนี้
-  การประเมินผลการศึกษา
-  การประเมินการสอน หรือ การจัดการเรียนรู้
-  การประเมินการปฏิบัติงาน
-  การตรวจสอบภายใน
-  การตรวจสอบภายในด้วยเครือข่าย หรือพันธมิตร
-  การตรวจประเมินจากภายนอก  ภายหลังจากการประเมิน ต้องมี
-  วิเคราะห์ข้อมูล และทำรายงาน
-  การปรับปรุงแก้ไขระหว่างปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และถูกใจ
นักศึกษา ผู้ปกครอง และผู้นำทางการศึกษา
-  การวางแผน และดำเนินมาตรการป้องกันความผิดพลาด บกพร่องในรอบ หรือ
วงจรการปฏิบัติงานต่อๆมา เพื่อไม่เกิดความบกพร่อง ความสูญเสีย หรือมีให้น้อยที่สุด

8.นอกเหนือจากขั้นตอนการพัฒนาเข้าสู่การเป็นองค์การจัดการคุณภาพทั้งระบบที่กล่าวมาแล้ว  ท่านคิดว่า ขั้นตอนปฏิบัติที่ค่อนข้างละเอียดในการเป็นองค์การจัดการคุณภาพทั้งระบบควรมีอะไรบ้าง ? จงอธิบาย
                ขั้นตอนการพัฒนาเข้าสู่การเป็นองค์การจัดการคุณภาพทั้งระบบในการเป็นองค์การจัดการคุณภาพทั้งระบบควรมี คือ
            1.  มีการตั้งบุคคล หรือ องค์การ(ตามที่เสนอไว้แล้ว)เพื่อทำหน้าที่จัดการให้กลไกลคุณภาพ ตามที่กล่าว ได้ดำเนินไปได้
            2.  มีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาช่วยให้คำปรึกษา  หรือ อาจตั้งบริษัทที่ปรึกษา เพราะในการพัฒนาระบบเป็นงานที่มีความยุ่งยากกว่าการพัฒนาองค์การ(organization development)ซึ่งต้องการที่ปรึกษามากอยู่แล้ว กรณีของการสร้างระบบการจัดการคุณภาพทั้งระบบจึงยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น
            3.  มีการวางแผนงานเบื้องต้นให้มีการทำงานเป็นวงจร plan,do,check,act ในทุกคนทุกหน่วยงาน และบางหน่วยงานอาจมีกิจกรรมนำร่อง 5 ส. ด้วย
            4.  มีการติดตามประเมินผลที่ทำด้วยความตั้งใจ และหวังนำผลมาปรับปรุง
            5.  มีการสร้างระบบงานใหม่ที่ต้องการความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาอย่างมาก เพราะหากอาศัยแนวของISO หรือ international standard organization จะมีเอกสารที่ต้องทำเป็นเป็นจำนวนมาก เพื่อปรับวิธีการทำงานเสียใหม่  เช่น  คู่มือคุณภาพ  คู่มือกระบวนการปฏิบัติงาน  รายละเอียดงาน  แบบฟอร์มต่างๆ   เอกสารสนับสนุนต่างๆ
            6.  มีการฝึกอบรมให้ครูอาจารย์และบุคลากรให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามรายละเอียดที่ได้จัดทำขึ้น
            7. มีการลงมือปฏิบัติตามคู่มือที่ได้รับการอบรมมาแล้ว
            8. มีการประเมินผลภายในตามที่มีการระบุไว้ในคู่มือ ซึ่งอาจจะสามารถใช้เครือข่ายพันธมิตรมาช่วยประเมินด้วย ก็สามารถทำได้
            9.มีการปรับปรุงงานตามผลที่ได้ประเมินและส่งผลย้อนกลับ
            10.มีการประสานกับหน่วยงานมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  สมศ.
เพื่อให้มีการตรวจประเมินจากภายนอก
            11.ผลของการประเมินอาจยังไม่ได้มาตรฐานเพื่อให้การรับรองคุณภาพ หรือ
accreditation องค์การดังกล่าวจะให้เวลาเพื่อการปรับปรุงเพื่อการรับรองผลอีกครั้ง   หรือ หลายครั้ง จนกว่าจะถึงมาตรฐานที่ให้การรับรอง  และหลังจากนั้น องค์การมาตรฐานจะมีติดตามเป็นระยะๆเพื่อกระตุ้น หรือ ให้แรงเสริม(reinforcement)เพื่อให้ระบบสามารถผลิตงานคุณภาพ ได้ปริมาณตามกำหนด  และเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อยู่เสมอ

แนวทางการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาเพื่อมุ่งสู่การประกันคุณภาพการศึกษา
ในการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา เพื่อเตรียมการรับการประเมินคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภายนอก(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.) สถานศึกษาแต่ละแห่งจึงมีแนวทางในการดำเนินงานในการประกันคุณภาพด้วยกระบวนการพัฒนาที่เหมาะสมกับสถานศึกษา เช่น ยึดหลักการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพตามวงจรของ เดมมิ่ง อันได้แก่ การวางแผน (Plan)การปฏิบัติตามแผน(Do)การตรวจสอบหรือประเมินผลการปฏิบัติงาน(Check) และการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา(Action) 

กรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ประจวบ พิมพะนิตย์ได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ
1.การพัฒนาหลักสูตร 
2.การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน 
3.การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการ

การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาการบริหารคุณภาพ ประกอบด้วย 
1.ยุทธศาสตร์ มีการปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง(TQM)มีกระบวนการเรียนรู้(พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้)
2.คน คือมีการจัดคน จูงใจและสร้างพลังสู่ความสำเร็จ 
3.เทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินการ 
4.กระบวนการจัดการ โดยควบคุมคุณภาพ (PDCA) ทำงานเป็นมาตรฐาน ทุกคนมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม (ตัดสินใจด้วยตนเอง) และพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หัวใจระบบประกันคุณภาพอยู่ที่ระบบพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเราไม่ได้ส่งเสริม ไม่ได้ให้กำลังใจอย่างจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารมีส่วนสำคัญในการนำแนวคิดการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงให้รอบด้าน โดย ปรับยุทธศาสตร์ ฉลาดสร้างคน ค้นเทคโนโลยี มีกระบวนการ

5. แนวคิดการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา บรรยายพิเศษ ให้ข้อคิดในการดำเนินงานว่า ผู้บริหารทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยให้ข้อคิดในการทำงานให้สำเร็จ 3ประการ ได้แก่ 1)ปลุกให้ตื่น : หมายถึงให้คนอื่นรับทราบ และมีส่วนร่วม มีฐานข้อมูล รู้บทบาทหน้าที่ 2)ยืนให้มั่น : หมายถึง มีวิธีการทำงาน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูล กลับกลุ่มคุณภาพและดำเนินการพัฒนาในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย 3)ลงลึกให้เป็นวัฒนธรรม: หมายถึงหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ควรมีการชื่นชม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และให้ขวัญกำลังใจ

ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิทยานุวัฒน์บรรยายพิเศษ ผลการประเมินภายนอกรอบสอง และทิศทางการประเมินภายนอกรอบสามโดยกล่าวว่า 1)มาตรฐานสถานศึกษาให้ใช้เกณฑ์ของสมศ.และสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรอง รัฐบาลต้องช่วยพัฒนา 2)โรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมิน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 3)นโยบายเรียนฟรี 15 อย่างมีคุณภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโรงเรียน 4)การประเมินเพื่อพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งนำร่องก่อน 5)สถานศึกษาที่มีคุณภาพ คือ สถานศึกษาที่ทำประกันคุณภาพภายในอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ 
ศาสตราจารย์ ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.)บรรยายพิเศษ การส่งเสริมประสิทธิภาพระบบการประกันคุณภาพการศึกษากล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเป้าหมายที่ 1: เร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ โดยสะท้อนผลสำเร็จไปที่หน้าที่สำคัญของงานประกันคุณภาพระดับเขตพื้นที่การศึกษา(1)สพท. ต้องรู้ว่าสถานศึกษามีผลการประเมินเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือลดลงกี่โรงเรียน (2) จะเร่งรัดส่งเสริมสถานศึกษาอย่างไร(3) มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร เป้าหมายที่ 2 : พัฒนาโรงเรียนที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานภายนอก รอบสองให้ได้ โดยให้แต่ละเขตพื้นที่กำหนดจำนวน เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนในการพัฒนาเอง แนวดำเนินการ (1) จัดทำฐานข้อมูลโรงเรียน(2) จัดระบบการเข้าถึงข้อมูลโรงเรียน (3)จัดโรงเรียนพี่เลี้ยง(4)สร้างความตระหนักให้ผู้บริหาร : ให้กระตือรือร้นและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา(5)เสริมสร้างประสิทธิภาพครู : ให้ รู้จักเด็ก มีการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน และสามารถจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรของตนเองได้(6)จัดการเรียนรู้ให้นักเรียน : แจ่มใส อ่านได้ คิดเลขได้ ฯลฯ (7) ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม : ยอมรับ ศรัทธา (8) มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา : มีการประเมินตนเอง ต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับทุกระดับ



แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ 

             แนวทางการสร้างสถานศึกษาแห่งคุณภาพ ประกอบด้วย 
1.การวิเคราะห์บริบท (Context Analysis)โดยใช้หลักการ SWOT ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือสถานศึกษา สามารถจัดวางยุทธศาสตร์ของสถานศึกษาได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับเป้าหมายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล(Good Governance)ทำให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจหลักการสำคัญของธรรมาภิบาลและนำไปสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทำให้การบริหารงานเกิดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายได้รับความสุขและความสำเร็จในการทำงาน เกิดความมั่นใจในการบริหารคุณภาพการจัดการศึกษา
3.การนำองค์การและเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา (Leading Organization and Education Management Technology) ทำให้ผู้บริหารทราบถึงวิธีการที่ผู้บริหารจะชี้นำองค์กรโดยอาศัยการสื่อสาร การสร้างบรรยากาศ ความรับผิดชอบต่อสังคม และเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบริหารการศึกษาและทักษะที่จำเป็นต่อการบริหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์(Strategy Planning and Formulation) ทำให้เห็นแผนภาพที่แสดงถึงแนวทางการวางแผนและการกำหนยุทธศาสตร์ในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
5.การนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ(Strategy Implementation)เป็นแนวทางในการนำแผนยุทธศาสตร์ลงสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ทำให้ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผนมีความยั่งยืน
6.การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เนื่องจากบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีส่วนที่มีผลกระทบต่อการบริหารการศึกษา สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
7.การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (Network Building and Participatory) เนื่องจากกระบวนการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษามีพลังในการพัฒนา จึงต้องสร้างระบบการดำเนินงานทางการศึกษาร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบร่วมกัน
8.การควบคุม การวัดประเมิน และการจัดการความรู้ (Control , Measurement, Evaluation and Knowledge Management) เป็นการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการบริหารสถานศึกษา จากแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติครบวงจร ทำให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรับข้อมูลที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ และใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ การจัดการความรู้เป็นการสร้างสินทรัพย์ทางความรู้ให้อยู่กับสถานศึกษา โดยพัฒนาอย่างเป็นระบบให้องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดและเก็บรักษาไว้ที่สถานศึกษา
9.การปฏิบัติที่เป็นเลิศ(Best Practice)เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศในการบริหารงาน โดยนำหลักทางการบริหารมาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ
การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษา มีความสำคัญยิ่ง คุณภาพการจัดการศึกษาเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจและห่วงใย สถานศึกษาจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมว่า มีความสามารถในการจัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนมีคุณธรรม(ดี)มีความรู้(เก่ง) และอยู่ในสังคมได้อย่างความสุข ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานที่สูงขึ้น ผู้บริหารเป็นมืออาชีพและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้นำทางวิชาการ มีจิตอาสา ประชาชนได้รับความสุขจากการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง สถานศึกษามีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่กำหนดว่า คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพภายใต้การขับเคลื่อนแนวทาง 4 ใหม่ คือ คุณภาพคนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการบริหารและการจัดการยุคใหม่

บทบาทภาวะผู้นำของบริหาร ในการบริหารคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา
แนวทางการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนรวมทั้งบทบาทของผู้บริหารในการประกันคุณภาพการศึกษา ดังนี้
1. การเตรียมการก่อนดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ผู้บริหาร จะมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยสร้างความตระหนัก และพัฒนาความรู้ทักษะต่าง ๆ ให้กับบุคลากร รวมทั้ง การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อร่วมกับผู้บริหารในการประสานกระตุ้น กำกับ ดูแล ให้บุคลากรภายในสถานศึกษา และบุคลากรภายนอกที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกันดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ในการสร้างความตระหนักผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องปลุกจิตสำนึกและสร้างความ ตระหนักให้บุคลากรทุกฝ่ายมองเห็นคุณค่า และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายใน ถ้าบุคลากรยังมีความเข้าใจแตกต่างกันออกไป และไม่มีทัศนคติที่ดี การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาก็จะสำเร็จได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องปรับความคิดของบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับเดียวกันก่อน และในการพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายใน บุคลากรส่วนใหญ่ยังเข้าใจวิธีการประกันคุณภาพภายในค่อนข้างน้อย และไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรในแต่ละขั้นตอน รวมทั้งยังขาดทักษะในการประเมินตนเอง ผู้บริหารจึงควรฝึกอบรมให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจให้สามารถดำเนินการ ประกันคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้บริหารต้องดำเนินการร่วมกับบุคลากรหลักที่ได้รับมอบหมายในรูปของคณะ กรรมการ หรือคณะทำงานในการดำเนินงานต่าง ๆ และต้องกำกับ ดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงกันเป็นทีมเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ เกิดประสิทธิผล
2. ขั้นตอนที่สอง การดำเนินการประกันคุณภาพภายใน  ในขั้นตอนนี้ผู้บริหารมีบทบาทในการบริหาร จัดการ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา แนะนำ ดูแลให้มีการประกันคุณภาพภายใน ที่ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดย
ในการวางแผนการปฏิบัติงาน (P) ผู้บริหารจะต้องเป็นแกนนำในการจัดทำแผนรวมทั้งกำกับ ติดตามให้มีการดำเนินงานตามแผนการเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ สถานศึกษาควรจัดให้มีการจัดทำแผนต่าง ๆ คือ แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปี แผนการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรและสอดคล้องกับเป้าหมายของสถานศึกษา แผนการประเมินคุณภาพการศึกษา แผนงบประมาณทั้งรายรับและรายจ่ายของสถานศึกษาซึ่งแผนต่าง ๆ ต้องมีความเชื่อมโยงกันเมื่อมีการวางแผนปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเป็น
การปฏิบัติตามแผน (D) เมื่อบุคลากรร่วมกันดำเนินการตามแผนที่จัดทำไว้ผู้บริหารควรจะส่งเสริมและ สนับสนุนให้บุคลากรทุกคนทำงานอย่างมีความสุขจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิ ภาพกำกับ ติดตาม ทั้งระดับรายบุคคล รายกลุ่ม รายหมวด หรือฝ่าย เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการดำเนินตามแผน ผู้บริหารต้องนิเทศติดตามการดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือแผนที่กำหนด ไว้หรือมีปัญหาหรือไม่ หากเป็นไปตามแผนหรือมีปัญหาจะได้ให้การนิเทศเพื่อปรับปรุงแก้ไข ในการนิเทศผู้บริหารควรให้การนิเทศเพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้อย่าง มีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องการจัด การเรียน การสอน การประเมินตนเอง และทักษะในด้านต่าง ๆ โดยผู้บริหารอาจให้การนิเทศเอง หรือเชิญวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ แต่ละด้านมาให้การนิเทศ หรือให้บุคลากรไปอบรมเพื่อให้เกิดทักษะในด้านต่าง ๆ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอน
ตรวจสอบประเมินผล (C)และการนำผลการประเมินมาปรับปรุงงาน (A)ผู้บริหารและครูต้องเข้าใจระบบการประกันคุณภาพอย่างถูกต้อง และต้องตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินผล นอกจากนี้ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำและส่งเสริมการนำผลจากการประเมินตนเองมาใช้ ในการปรับปรุงสถานศึกษา และการรายงานผลให้สาธารณชนรับทราบขั้นตอนสุดท้าย การรายงาน ผู้บริหารต้องเป็นแกนนำในการจัดทำรายงานประเมินตนเอง หรือรายงานประจำปี รวบรวมผลการดำเนินงาน และผลการประเมิน วิเคราะห์ตามมาตรฐาน และเขียนรายงาน จะเห็นว่าในการบริหารและการจัดการศึกษาที่เน้นการประกันคุณภาพภายในนั้นผู้ บริหารต้องเป็นหัวใจ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ผู้บริหารเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำ เป็นผู้อำนวยการ และเป็นผู้อำนวยความสะดวก ที่จะต้องนำสถานศึกษาให้เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่มีวัฒนธรรม การทำงานบนฐานคุณภาพ และยึดมาตรฐานการศึกษาเป็นเป้าหมาย เพื่อสร้างผลผลิตให้ผู้เรียนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ มีคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ และมีสมรรถนะทางด้านร่างกาย จิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ทักษะทางด้านการทำงาน และทักษะทางสังคมตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายและมีคุณภาพนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องอาศัยการมอบอำนาจ การกระจายอำนาจ ความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการพัฒนาระบบ ประกันคุณภาพการศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีภาวะผู้นำ ต้องมีสมรรถนะสูงทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะการบริหาร เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังจึงจะสามารถนำพาองค์การสู่คุณภาพและ มาตรฐานได้ นอกจากนี้การที่ผู้บริหารได้ใช้ภาวะผู้นำและความรู้ ความสามารถในการบริหารงานอย่างเป็นระบบและมีความโปร่งใส เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ จะเป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบของผู้ปกครองและชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเป็นประโยชน์ต่อ สังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น